หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
- 31 ม.ค. 2564
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 12 ธ.ค. 2566

อาการปวดคอ บ่า ไหล่ หรือ ปวดหลัง ปวดเอวนั้น หากเป็นบ่อยๆ อาจพัฒนาไปสู่อาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลักๆคือ การนั่งผิดท่า การใช้โทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และการยกของหนัก ส่วนใหญ่นั้นล้วนเกิดจากท่าที่มีการก้มหน้า หรือ ก้มตัว

กระดูกสันหลังของเรานั้นถูกออกแบบมาให้เส้นประสาทวิ่งผ่าน ก่อนที่จะแตกแขนงไปยังส่วนต่างๆของร่างกาย ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อจะมีหมอนรองกระดูกแทรกอยู่ หมอนรองกระดูกมีหน้าที่ป้องกันการเสียดสีของกระดูกสันหลัง ทำให้เราเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างอิสระ แต่หากเกิดการกดทับและเสียดสีซ้ำๆจะทำให้หมอนรองกระดูกของเราปูดหรือยื่นออกไป หากหมอนรองกระดูกยื่นไปแตะหรือกดทับที่เส้นประสาทจะทำให้รู้สึกชาร้าวลงที่แขนขา หรือ ชาปลายมือปลายเท้า ขึ้นอยู่กับว่าเราปัญหาเกิดขึ้นที่ใด อาการชาอาจรู้สึกคล้ายมดไต่

การรักษา หากมีอาการปวดคอ คือ ปวดหลัง ให้พักผ่อน หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงท่าที่ต้องก้มหน้าหรือก้มตัว และไม่ควรนั่งเป็นเวลานาน การรับประทานยาแก้ปวดหรือยาคลายกล้ามเนื้ออาจช่วยบรรเทาได้ชั่วคราวเท่านั้น หากอาการไม่ดีขึ้น สามารถรักษาโดยการนวดและฝังเข็ม การฝังเข็มนั้นได้ผลดีในกลุ่มอาการปวดและชา และการจัดกระดูกนั้นต้องทำควบคู่กับการนวด เนื่องจากกล้ามเนื้อมีจุดยึดเกาะที่กระดูก การที่กล้ามเนื้อหดเกร็งจะทำให้กระดูกถูกดึงรั้งจนผิดรูป หากจัดกระดูกให้เข้าที่แต่ไม่มีการนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อก็จะยังคงดึงรั้งกระดูกให้ผิดรูปอีกครั้ง หากรักษาด้วยวิธีต่างๆแล้ว ยังคงไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้ทำการผ่าตัด

อาการที่เกิดจากหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้น สามารถรักษาได้ แต่ยังคงมีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำ และไม่มีการรักษาใดสามารถทำให้หมอนรองกระดูกที่ยื่นออกมากลับเข้าไปที่เดิม
นอกจากการรักษาดังกล่าวแล้ว ที่สำคัญที่สุดอยู่ที่พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วยเอง หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ป่วย และ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม คือ การรักษาที่ดีที่สุด
พจ. ณัฐวรรธน์ มณีรัตน์
Comments