แพทย์แผนจีนเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่
- 28 ม.ค. 2564
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 10 ก.พ. 2564

คำถามที่ว่าแพทย์แผนจีนเป็นวิทยาศาสตร์หรือไม่นั้นคงจะตอบได้ว่าขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน แต่หากอ้างอิงตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน วิทยาศาสตร์ หมายถึง ความรู้ที่ได้โดยการสังเกตและค้นคว้าจากปรากฏการณ์ธรรมชาติแล้วจัดเข้าเป็นระเบียบ ดังนั้น แพทย์แผนจีนเป็นวิทยาศาสตร์อย่างแน่นอน เพราะองค์ความรู้ของแพทย์แผนจีนนั้นเกิดจากการค้นคว้าและทดลอง การฝังเข็มนั้นใน 5000 ปี ก่อนได้เริ่มจากการใช้ก่อนหินที่แหลมคมนวดคลึงตามจุดต่างๆของร่างกาย และนำผลลัพธ์ที่ได้จดบันทึกและสืบทอดต่อกันมาหลายพันปี จากผลลัพธ์ที่ได้นั้น ได้ก่อให้เกิดเป็นทฤษฎีเส้นลมปราณต่างๆในร่างกาย เช่นเดียวกับยาจีน ได้มีการลองผิดลองถูก และจดบันทึกผลลัพธ์ที่ได้ก่อให้เกิดเป็นตำหรับยาต่างๆ
แต่คำว่าวิทยาศาสตร์ของหลายๆคน คงจะหมายถึงการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องพิสูจน์ ตอนที่ผมเรียนการทดลองวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับแพทย์แผนจีนนั้น ได้มีการทดลองเรื่องจุดลมปราณบนร่างกายมนุษย์ โดยใช้เครื่องมือวัดศักย์ไฟฟ้า พบว่าบริเวณที่เป็นจุดลมปราณให้ศักย์ไฟฟ้า ต่างจากบริเวณที่ไม่ใช่จุดลมปราณ และจุดลมปราณนั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. หรือ การทดลองที่เกี่ยวกับจุดเน่ยกวนกับอัตราการเต้นของหัวใจ โดยให้ผู้ทดลองออกกำลังกายแล้ววัดอัตราการเต้นของหัวใจ เมื่ออัตราการเต้นของหัวใจคือสู่สภาพปกติ ให้ลองฝังเข็มที่จุดเน่ยกวนแล้ววัดอัตราการเต้นของหัวใจอีกครั้ง จากการทดลองพบว่าการฝังเข็มที่จุดเน่ยกวนทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับการออกกำลังกาย
หากคุณเชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือสิ่งที่ทำซ้ำได้และได้ผลเหมือนเดิม แพทย์แผนจีนก็ยังคงเป็นวิทยาศาสตร์อีกเช่นกัน เนื่องจากผลการรักษาของแพทย์แผนจีนไม่ได้เกิดขึ้นโดยการสุ่ม แต่เกิดจากการใช้ทฤษฎีในแบบของแพทย์แผนจีน หากจะให้เปรียบเปรยแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนปัจจุบันก็คงเหมือนกับ โทรศัพท์เอนดรอยด์กับไอโฟน ถึงแม้ระบบปฏิบัติการหรือวิธีคิดจะต่างกัน แต่มีจุดประสงค์เดียวกันคือเพื่อรักษาผู้ป่วยให้มีสุขภาพดี
“แพทย์แผนจีนนั้นไม่ใช่ความเชื่อ แต่เป็นเรื่องของผลการรักษา”
บทความ: พจ.ณัฐวรรธน์ มณีรัตน์
Comentarios